700365
ชื่อหนังสือ วรรณกรรมเล่าด้วยภาพ
ผู้แต่ง ศักดา วิมลจันทร์
ราคา 120
จำนวนหน้า 100 หน้า
สำนักพิมพ์ ก.พล
พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2551
การนำวรรณกรรมมาเล่าด้วยภาพ มีหลายวิธีได้แก่ การนำมาทำเป็นหนังสือการ์ตูน ละคร และภาพยนตร์ วิธีที่ง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด คือการทำเป็นหนังสือการ์ตูนแต่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในความเห็นของผม ด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรกเป็นสื่ออ่าน ข้อดีของสื่ออ่านก็คือ การมีอิสระในการอ่าน ซึ่งทำให้มีเวลาคิดไตร่ตรอง ไม่เหมือนการคูสื่ออื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ที่ต้องดูติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนจบ สมองทำงานด้านการรับรู้อย่างเดียว ไม่มีเวลาคิด
ประการที่สอง หนังสือการ์ตูนสามารถถ่ายทอดงานวรรณกรรมได้ใกล้เคียงที่สุดโดยแทบไม่ต้องดัดแปลง เช่น ถ่ายทอดความคิดด้วยตัวละครลงในบอลลูนความคิดได้เลย แต่ถ้าเป็นภาพยนตร์ต้องหาวิธีแปลงให้เป็นการกระทำ เพราะการได้ยินความคิดของตัวละครนั้น ไม่เป็นธรรมชาติในแบบภาพยนตร์ เราจึงมักได้ยินคำวิจารณ์บ่อยๆว่า ดูหนังสู้อ่านหนังสือต้นบับไม่ได้
ประการที่สาม ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาถ้อยคำจากวรรณกรรมกับภาษาภาพในการ์ตูนมีได้หลายวิธี ในหนังสือนี้แสดงให้ดู 3 วิธี คือ ภาพประกอบ (นำเรื่อง เทวธรรมชาดก) ภาพประกอบต่อเนื่อง (นิราศวัดเจ้าฟ้า นิทานโบราณคดี) และ นิยายภาพ (เทวธรรมชาดก พระ พระเจ้าอยู่หัว พ่อ และลุง ซาเก๊าะ) แปลว่า เราสามารถนำวรรณกรรมทุกแบบทุกแนวมาทำเป็นหนังสือการ์ตูนได้
ประการที่สี่ หนังสือการ์ตูนทำให้เกิดนิสัยรักการอ่านหนังสือ ในขณะที่หนัง (ภาพยนตร์) ทำให้รักการดูหนัง อันว่าสิ่งที่เป็นวิชาความรู้ความคิดนั้น อยู่ในหนังสือมากกว่าในหนัง
ประการที่ห้า หนังสือการ์ตูนนั้นทำง่าย ถ้ามีความรู้ความสามารถพอ คนเดียวก็ทำได้ ทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมขบวนการสร้างสรรค์การ์ตูนได้ง่าย ส่วนว่าจะขายง่ายด้วยหรือเปล่านั้น ต้องให้ท่านผู้อ่านช่วยพิจารณา
การทำหนังสือการ์ตูนในกรณีของผมนี้ ถ้าจะมีข้อเสียก็เพียงข้อเดียว คือ การนำวรรณกรรมเก่าๆ มาทำเป็นการ์ตูนนี่แหละ เพราะใครๆก็ว่า เดี๋ยวนี้เด็กๆไม่อ่านวรรณกรรมแบบนี้แล้ว
อ้าว!เด็กไทยไม่อ่านวรรณกรรมไทย และไปอ่านอะไรกันน่ะ ?