ห้องสมุดประชาชน อำเภอพิบูลย์รักษ์

แนะนำหนังสือมาใหม่!

 

รหัสบาร์โค้ด  600210  การปลูกพืชไม่ใช้ดิน

 

ทิพย์ดนตรีไทย

อีเมล พิมพ์ PDF

 

700348

ชื่อหนังสือ ทิพย์ดนตรีไทย

ผู้เขียน ชไมพร พรเพ็ญพิพัฒน์

พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2549

จำนวน 162 หน้า

ราคา 150 บาท

 

หนังสือ ทิพย์ดนตรีไทย เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติดนตรีไทย ดนตรีไทยช่วยสร้างสรรค์ให้โลกมีด้านสว่างมากขึ้น ช่วยจรรโลงโลกให้งดงามเช่นเดียวกับศิลปะแขนงอื่นๆ ทุกชาติมีดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติตน แม้จะไม่ใช่ประเทศแต่เป็นเพียงชนพื้นเมืองเผ่าเล็กๆ ก็มีเสียงเพลงขับขานนำความสุขมาให้เผ่าของตนได้เช่นกน

หนังสือ ทิพย์ดนตรีไทยได้รวบรวมเนื้อหาสาระความรู้เกี่ยวกับดนตรีไว้มากมาย อาทิเช่น ประวัติดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทย วงดนตรีไทย การปฏิบัติเครื่องดนตรีไทย ฯลฯ

 

ประวัติดนตรีไทย 

มนุษย์เรา แม้มีเพียงสองมือตบเข้าด้วยกันก็เกิดเสียงเป็นจังหวะดนตรีแล้ว จังหวะนั้นเกิดจากอารมณ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าดนตรีเกิดขึ้นจากอารมณ์ของมนุษย์เช่นกัน เวลาที่เราสนุกสนานก็ทำจังหวะด้วยการปรบมือ ตอนเศร้าโศกเสียใจก็ส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญ ได้จังหวะที่แปลกไปอีกแบบ จะเดิน จะวิ่ง ล้วนมีแต่จังหวะ ยิ่งเมื่อรู้จักการเต้นรำแบบง่าย จังหวะดนตรีก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตอย่างสมบูรณ์

ดนตรีคือชีวิต และดนตรีก็มีชีวิต จากมือที่เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ที่สุด ไม่นานนักเราจึงได้มีเครื่องดนตรีที่ทำง่ายๆ มาใช้ตีเคาะจังหวะ เช่น ท่อนไม้ที่คว้ามาจากพื้นใกล้ๆ ตัว ดังนั้นดนตรีประเภทเครื่องตีจึงเป็นเครื่องดนตรีที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆ เหมือนอย่างกรับคู่ ที่ยังใช้มากระทั่งทุกวันนี้ในบ้านเรา

ความคิดในการสร้างสรรค์เครื่องประกอบจังหวะยังคงไม่หยุดนิ่งเพียงเท่านี้ ด้วยความที่มนุษย์มีลักษณะเป็นคนช่างสังเกต หลังจากถลกหนังสัตว์ที่ตนล่ามาได้ แล้วนำมาผึ่งไว้กับวัสดุที่มีโพรงอย่างท่อนไม้ เมื่อหนังแห้งจึงลองตีดู ทำให้เกิดเสียง จึงเป็นที่มาของการประดิษฐ์คิดค้นกลองขึ้น เครื่องดนตรีประเภทอื่นอย่างเครื่องเป่า เครื่องสี และเครื่องดีดก็มีที่มาคล้ายๆกันเช่นนี้

ทางดนตรีไทยได้แพร่ขยายปกคลุมทั่วโลก เมื่อมนุษย์ที่อยู่ต่างถิ่นซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน เริ่มติดต่อสื่อสารกัน ไม่ว่าจะเพื่อการค้าหรือการใดก็ตามได้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หยิบยืมวิธีประดิษฐ์ลอกเลียนแบบ รวมถึงแนวความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ท้องถิ่นของตนไม่มี หรือถ้ามีก็อาจแตกต่างกันมากมแน่นอนว่าวัฒนธรรมทางดนตรีทั้งเครื่องดนตรี จังหวะ ทำนอง การร้อง การเต้น และสิ่งละอันพันละน้อยก็ถูกถ่ายทอดหยิบยืมไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการไหลของวัฒนธรรมดนตรีแบบนี้ทำให้เกิดผลดีตามมามากมาย ดนตรีทุกชาติมีการพัฒนา ขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตนไว้อย่างเหนียวแน่น

ดนตรีไทยเป็นดนตรีแบบฉบับที่อยู่คู่สังคมมาช้านาน มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการศึกษากันอย่างแพร่หลาย มีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง มีการรับอิทธิพลจากดนตรีต่างชาติต่างภาษา แต่เป็นที่แน่นอนว่าดนตรีไทยมีเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นไทย ควรอย่างยิ่งที่ชนรุ่นหลังจะได้ศึกษาถึงประวัติความเป็นมา และวิวัฒนาการสู่รุ่นปัจจุบัน