หน้าหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว ศธ. เร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยใน ๓๒ ตำแหน่งงานภายใต้ข้อตกลงอาเซียน

ศธ. เร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยใน ๓๒ ตำแหน่งงานภายใต้ข้อตกลงอาเซียน

E-mail Print PDF

นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรในการอภิปรายในหัวข้อ ทิศทางและเป้าหมายการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยใน ๓๒ ตำแหน่งงานภายใต้ข้อตกลงอาเซียน ร่วมกับคณะผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ

นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรในการอภิปรายในหัวข้อ ทิศทางและเป้าหมายการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยใน ๓๒ ตำแหน่งงานภายใต้ข้อตกลงอาเซียน ร่วมกับคณะผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และจะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีในประเทศสมาชิก ส่งผลให้แรงงานไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพให้ทัดทียมและนำหน้าในเวทีอาเซียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนทางการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเสริมสร้างศักยภาพประชากรในระบบการศึกษาที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับการศึกษามัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ตลอดถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเตรียมความพร้อม และพัฒนาทักษะ สมรรถนะแรงงานให้ตรงตามมาตรฐานคุณภาพงานที่ประเทศสมาชิกกำหนดไว้ 

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ได้ลงนามในข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพ (MRA) ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการแสวงหาจุดยอมรับร่วมกันเรื่องคุณสมบัติของผู้ทำงานด้านการบริการโดยครอบคลุมวิชาชีพต่างๆทั้ง ๗ วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล  วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ และนักบัญชี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพในประเทศสมาชิกอาเซียน และแลกเปลี่ยนข้อมูลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในการสอนและฝึกอบรมบุคลากรวิชาชีพ นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงยอมรับร่วมกันในคุณสมบัติของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวแห่งอาเซียน ใน ๒ สาขาหลัก คือ สาขาที่พักและสาขาการเดินทาง ครอบคลุม ๓๒ ตำแหน่งงาน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการและจัดทำหลักสูตรอบรมรองรับสมรรถนะขั้นพื้นฐานของบุคลากรที่จะประกอบวิชาชีพท่องเที่ยวใน ๓๒ ตำแหน่งงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งสร้างแรงงานคุณภาพเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันในเวทีอาเซียน โดยเริ่มจากการพัฒนาสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพให้สูงขึ้นเป็น ร้อยละ๖๐ จากผู้เรียนทั้งหมด และเร่งปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการเรียนในสายอาชีพให้ถูกต้อง มุ่งพัฒนาสถานศึกษาให้มีหลักสูตร การเรียนการสอนที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายทางด้านวิชาชีพ รวมถึงการพัฒนาค่าตอบแทนสำหรับแรงงานในสายอาชีพให้สูงขึ้น เพื่อจูงใจให้เรียนในสายอาชีพมากขึ้น และที่สำคัญ ต้องเร่งเพิ่มพูนทักษะทางภาษาให้กับประชาชน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน ซึ่งจะใช้เป็นภาษาในการสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิก 

“ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประชาคมอาเซียน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะร่วมเป็นกลไกในการผลักดันกับทุกหน่วยงาน ซึ่งในเบื้องต้น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  โดยจัดสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ ๖-๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค กรุงเทพมหานคร” รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าว

ธมกร/ข่าว

กิตติกร/ภาพ


 

ผู้บริหารจัดการระบบ

แบบสำรวจความคิดเห็น

การศึกษามุ่งสู่ประชาคมอาเซียน?