หน้าหลัก ความร่วมมือการศึกษากับอาเซียน ความร่วมมือด้านการศึกษากับอาเซียน

ความร่วมมือด้านการศึกษากับอาเซียน

E-mail Print PDF

ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง

     อาเซียนมีความร่วมมือเพื่อธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค เช่น การจัดทำปฏิญญากำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง  หรือ Zone of Peace,Freedom and Neutrality (ZOPFAN) ในปี 2514 การจัดทำสนธิสัญญาไมตรี และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Treaty of Amity and Cooperation  (TAC) ในปี 2519  สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) และการริเริ่มการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ASEAN Regional Forum (ARF) เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจกันระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิกซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกในปี 2537
     ไทยได้เสนอแนวคิดเรื่อง ASEAN Troika  ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ปี 2542  ในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ASEAN Troika ประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศที่เป็นประธานอาเซียน ประเทศที่เป็นประธานอาเซียน ประเทศที่เป็นประธานก่อนหน้านั้น  และประเทศที่จะเป็นประธานต่อไป เพื่อเป็นกลไกในการหารือแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคโดยไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิกดังเช่นต่อมา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ได้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นในสหรัฐอเมริกา แนวคิดเรื่อง ASEAN Troika กลายเป็นกลไกรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจกระทบต่อประเทศสมาชิกและภูมิภาคทำให้การจัดตั้ง ASEAN Troika ของไทยช่วยปรับปรุงการทำงานของอาเซียนให้คล่องตัวมากขึ้นเพื่อให้อาเซียนได้ร่วมหารือและประสานความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและทันต่อเหตุการณ์

 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

     อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ฯพณฯ อานันท์  ปันยารชุน ได้เสนอให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ ASEAN Free Trade Area (AFTA) ในปี 2535 เพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกัน อันจะช่วยส่งเสริมการค้าภายในอาเซียนให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิตสินค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ต่อมา อาเซียนได้ขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบและมีทิศทางชัดเจน โดยจัดตั้งเขตลงทุนอาเซียน หรือ ASEAN Investment Area (AIA) ในปี 2541 เพื่อส่งเสริมการลงทุนทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ส่งเสริมการเปิดการค้าเสรี การท่องเที่ยว การเงิน การเกษตร และสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งโดยไทยได้เสนอให้จัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนและข้ามแดน นโยบายของไทยต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ คือผลักดันให้อาเซียนมุ่งปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ

ความร่วมมือด้านสังคมและความร่วมมือเฉพาะด้าน

     เป็นความร่วมมือในด้านอื่นที่มิใช่ด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือด้านต่างได้แก่ แรงงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข วัฒนธรรมและสารสนเทศ การศึกษาการขจัดความยากจน การพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน การพัฒนาชนบท การพัฒนาและส่งเสริมสวัสดิการสังคม การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม  และการจัดการด้านภัยพิบัติ เป็นต้น
     ไทยเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือด้านสังคมเพื่อสันติสุขในภูมิภาค จึงสนับสนุนให้อาเซียนกระชับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย การค้าอาวุธ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจและคอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเป็นกลไก ลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกเก่าและใหม่ของอาเซียนซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน
     ไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน หรือ ASEAN University Network (AUN) เพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของภูมิภาค ขณะเดียวกัน ได้เสนอให้ตั้ง “มูลนิธิอาเซียน” หรือ ASEAN Foundation เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งยังได้สนับสนุนการจัดทำโครงข่ายรองรับทางสังคม หรือ Social safety nets เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมจากวิกฤตเศรษฐกิจ
     ปี 2544 ไทยผลักดันให้อาเซียนมีมติรับรองการจัดให้มีปีแห่งการปลูกจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติดในอาเซียน ระหว่างปี 2545-2546 และสนับสนุนให้มีประชุมยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 รับรองปฏิญญาว่าด้วยเชื้อ HIV เนื่องจากไทยสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาเสพติดปัญหาโรคเอดส์และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระดับภูมิภาค

 ความร่วมมือกับประเทศภายนอกอาเซียน

    ไทยมีบทบาทสนับสนุนให้อาเซียนมีความร่วมมือกับประเทศนอกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นดังปรากฏในรูปของความร่วมมืออาเซียน+3 (ASEAN plus 3) ซึ่งประกอบประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับญี่ปุ่น จีน และสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งได้ทำการสถาปนาความสัมพันธ์ในลักษณะของประเทศคู่เจรจา (ASEAN plus 1) กับอีก 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และรัสเซีย และมีความร่วมมือกับหนึ่งกลุ่มประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ คือ โครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มีความสัมพันธ์เฉพาะด้าน (sectoral dialogue) กับปากีสถาน และมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ขององค์การสหประชาชาติด้วย


 

ผู้บริหารจัดการระบบ

แบบสำรวจความคิดเห็น

การศึกษามุ่งสู่ประชาคมอาเซียน?