.:: อาเซียน (ASEAN) กศน.อำเภอพิบูลย์รักษ์ ::.

เตรียมพัฒนาเด็กไทย ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

E-mail Print PDF

       นางสาวจุไร รัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ ๑ และการประชุมวิชาการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยครั้งที่ ๙ ในหัวข้อ“ความพร้อมของเด็กไทยในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ร่วมกับ น.พ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร

 

       สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ได้สำรวจระดับความฉลาดทางอารมณ์(EQ) ของเด็ก ปี ๒๕๕๔ ในกลุ่มนักเรียนไทย อายุ ๖-๑๑ ปี จำนวน ๕,๓๒๕ คน ใน ๔ ภาคและกรุงเทพมหานคร รวม ๑๐ จังหวัด พบว่า คะแนนความฉลากทางอารมณ์ (EQ) มีคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศอยู่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือมีค่าคะแนนอยู่ที่ ๔๕.๑๒ จากค่าคะแนนปกติ ๕๐-๑๐๐ ซึ่งมีจุดอ่อนทั้ง ๓ องค์ประกอบใหญ่ คือ เก่ง ดี มีสุข โดยมีองค์ประกอบที่เป็นจุดอ่อนมาก ได้แก่ ความมุ่งมั่นพยายาม (๔๒.๙๘) ความกล้าแสดงออก (๔๓.๔๘) และความรื่นเริง เบิกบาน (๔๔.๕๓) โดยพบว่า ภาคใต้มีคะแนน EQ เฉลี่ยสูงสุด ๔๕.๙๕ ซึ่งใกล้กับค่าปกติมากที่สุดรองลงมา คือ ภาคเหนือ ๔๕.๘๔ กรุงเทพมหานคร ๔๕.๖๒ ภาคกลาง ๔๔.๓๘ และต่ำสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๔๔.๐๔

         รองปลัดกระทรวง ศึกษาธิการ กล่าวในโอกาสนี้ว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มีจุดมุ่งหมายในการสร้างเด็กไทยให้ เก่ง ดี มีสุข ซึ่งมุ่งพัฒนานาทั้งด้านสติปัญญา (IQ) ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และด้านคุณธรรม จริยธรรม (MQ) เพื่อให้เด็กไทยอยู่ร่วมในสังคมโลก และประชาคมอาเซียนได้อย่างมีคุณภาพ ตามวิสัยทัศน์ของอาเซียน ที่มุ่งสร้างสังคมเอื้ออาทรและแบ่งปัน (Caring and Sharing Community) ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิสตรีได้รับการยกย่อง ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัย มีความมั่นคงทางทหาร อยู่ร่วมกันบนพื้นฐานความแตกต่างของภูมิภาค โดยนำการศึกษามาเป็นส่วนช่วยพัฒนาและสร้างสังคมให้เกิดขึ้น โดยเริ่มจากการสร้างการรับรู้และตระหนักในความเป็นพลเมืองอาเซียนให้ประชาชน ของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ ทักษะ ในการดำรงชีวิตในประชาคมอาเซียนได้อย่างมีความสุข

        รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า หากมองในด้านผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน จะพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีคะแนนผลสัมฤทธิ์อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งในกลุ่มสาระวิชาพื้นฐาน ๘ วิชา การคิดวิเคราะห์ การอ่าน และการคำนวณ ดังนั้นแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเด็กไทยในอนาคตเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้เด็กไทยกลายเป็นแรงงานที่ไม่มีฝีมือ (Unskilled labor) ต้องเป็นลูกน้องหรือเสียเปรียบคนชาติอื่นๆ ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และการลงทุน กระทรวง ศึกษาธิการจึงมีนโยบายในการสร้างความรู้และทักษะให้กับเด็กไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และเทคโนโลยี พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนเลือกเรียนสายอาชีพ เพื่อเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

        รองอธิบดีกรมสุขภาพ จิต กล่าวเสริมว่า จากผลสำรวจการพัฒนาทางสติปัญญา (IQ) เด็กไทยพบว่า ร้อยละ ๗๐ มีพัฒนาการที่สมวัย ร้อยละ ๒๐ มีพัฒนาการช้า และอีกร้อยละ ๑๐ มีพัฒนาการไม่สมวัย เนื่องมาจากการป่วยเป็นโรค ซึ่งเด็กที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาการสมวัยต้องได้รับการดูแล และได้รับการจัดการเรียนการศึกษาปกติของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนเด็กที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาการช้า ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษโดยการตรวจสอบและคัดแยกเด็กออกมาเพื่อรับการรักษา และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม เด็กทั้งหมด ย่อมต้องการการดูแล เอาใจใส่ จากผู้ปกครอง และคนรอบข้าง โดยยึดหลัก “กิน กอด เล่น เล่า” คือ กินอาหารที่มีโปรตีนและไอโอดีน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก, กอดเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว และเชื่อฟังพ่อแม่, เล่นเพื่อกระตุ้นความฉลาดและพัฒนาการและสร้างวินัยให้เกิดขึ้น และพ่อแม่ควรเล่าเรื่องให้ลูกฟัง เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามมีปฏิสัมพันธ์กัน ก่อเกิดจินตนาการ

        ดังนั้นแล้ว คนในครอบครัว โรงเรียน และสังคมต้องดูแล เอาใจใส่ เด็กให้ได้รับการกระตุ้น พัฒนาทั้งทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และคุณธรรม จริยธรรมร่วมกัน โดยเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติ ส่งเสริมการพัฒนาที่เหมาะสมกับแต่ละวัย และสร้างความภูมิใจให้ปฏิบัติได้ โดยชื่นชม ยกย่อง เมื่อเด็กทำความดี ซึ่งพื้นฐานเหล่านี้จะส่งผลให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความ สุข และเตรียมพร้อมกับการเป็นพลเมืองอาเซียนในอนาคต

ธมกร/ข่าว
กิตติกร/ภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ. สป.


 

 

อัตลักษณ์และวิสัยทัศน์ของอาเซียนกับความหลากหลายในประชาคมเดียว

E-mail Print PDF

       นางสาวจุไรรัตน์แสงบุญนำรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นวิทยากรร่วมกับนางสาวจันทร์สุดารักษ์พลเมืองรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและนายดุลยภาคปรีชารัชชอาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษาเรื่อง“อัตลักษณ์และวิสัยทัศน์ของอาเซียนกับความหลากหลายในประชาคมเดียว” เมื่อวันที่๒๖มิถุนายน๒๕๕๕ณอาคารพฤกษชาติพระทรงชัยสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

       การสัมมนาในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับโอกาสและท้าทายของอาเซียนที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นประชาคมอา เซียนในปี ๒๕๕๘ ในประเด็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนและการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างการ ตระหนักรู้และจิตสำนึกในการเป็นประชาชนของอาเซียนสำหรับเยาวชนและคนยุคใหม่

       ทั้งนี้ในเวทีสัมมนาได้เสนอแนวคิดและประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

       ๑. กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องอาเซียนให้กับเยาวชนไทย ผ่านทางบทเรียน และกิจกรรมต่างๆ โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเร่งพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ให้กับเยาวชน ในทักษะวิชาพื้นฐาน การอ่าน การคิดวิเคราะห์ การคำนวณ ภาษา และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับประเทศสมาชิกได้

        ๒. การสร้างคนเข้าสู่อาเซียน ต้องเริ่มจากการสร้างความตื่นตัว เรียนรู้เพื่อก้าวสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผ่าน ๔ ปัจจัย โดยเริ่มจาก ๑. การเปิดรับ (Expose) โดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์กระตุ้นการรับรู้ของเยาวชนผ่านรายกรโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ๒. การใช้ตัวแทน (Representative) คือ การดึงสัญลักษณ์ สิ่งที่แปลกใหม่ ประเพณีของอาเซียนมานำเสนอ เพื่อสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน ๓. การส่งเสริม (Promotion) คือ การส่งเสริมลักษณะเด่นของแต่ละประเทศมาเป็นลักษณะเด่นของอาเซียน และ ๔. การจัดลำดับความสำคัญ (Priority) การเริ่มสร้างความเป็นอาเซียน โดยเริ่มจากสิงที่สำคัญ หรือทำได้ง่ายก่อน

       ๓. การใช้สื่อประชาสัมพันธ์เป็นตัวกลางในการสร้างความรับรู้เรื่องอาเซียนแก่ประชาชน ผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะการรับรู้ผ่านการเห็น ฟัง และสัมผัสเอง จะเรียนรู้และจดจำได้เป็นอย่างดี อีกทั้งกระจายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

        ๔. การแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง คือ การผสมผสานความเหมือนของแต่ละประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ในขณะที่รักษาความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ของแต่ละชาติไว้ด้วย

        ๕. มองข้ามประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ก่อเกิดความขัดแย้ง โดยดึงความภูมิใจร่วมกันมาส่งเสริมความเข้าใจและผูกพันกัน

        ๖. การตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันของการเป็นสมาชิกอาเซียน และไม่เพิกเฉยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หลังการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นต้น

        ๗. ส่งเสริมให้มีการเจรจา ร่วมมือพัฒนาแบบทวิภาคี หรืออนุภูมิภาค ไปพร้อมกับการบูรณาการของสามเสาหลักร่วมกับกับสมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศ

        ๘. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีคุณภาพ

        ๙. สร้างความเข้มแข็งภายในประเทศทุกมิติ และสร้างเข้าใจถึงการรวมตัวกันเป็นอาเซียนอย่างถ่องแท้และถูกต้อง

        ๑๐. ต้องพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และภาษาเพื่อนบ้าน ให้สามารถสื่อสาร ติดต่อกันได้

        ๑๑. การสร้างความเป็นคนไทย กล่าวคือ เมื่อมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ส่งผลให้มีการเข้ามาของแรงงานต่างชาติ ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและการลักลอบเข้ามามาทำงานในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อประเทศ ดังนั้น เมื่อประเทศไทยไม่สามารถผลักดันคนเหล่านี้ให้ออกจากประเทศไทยได้ ต้องมองคนเหล่านี้ให้เป็นทุนมนุษย์ พัฒนาให้เขาสามารถทำงานให้กับประเทศได้ เช่นการให้การศึกษา การพัฒนาความรู้ทักษะ นอกจากนั้นต้องสร้างความตระหนักถึงความเป็นไทยให้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาและอยู่ร่วมในสังคมไทยได้

       ดังนั้นแล้ว การสร้างคนเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความเป็นอาเซียนอย่างแท้จริง โดยมองถึงจุดร่วมของผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน พร้อมทั้งยึดวิสัยทัศน์และอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่างของชาติสมาชิก ไม่มองข้ามลักษณะเด่นหรือความแตกต่างแต่ใช้ความแตกต่างของ ๑๐ ชาติสมาชิกนั้นมาสร้างเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียนนั่นเอง

 

ธมกร/ข่าว
กิตติกร/ภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ. สป.


 

 


Page 14 of 20

ผู้บริหารจัดการระบบ

แบบสำรวจความคิดเห็น

การศึกษามุ่งสู่ประชาคมอาเซียน?
 

ผอ.กศน.อ.พิบูลย์รักษ์

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา

พยากรณ์อากาศวันนี้

อัตราราคาน้ำมันวันนี้