.:: อาเซียน (ASEAN) กศน.อำเภอพิบูลย์รักษ์ ::.

มหกรรมอาเซียนสัญจร

E-mail Print PDF

มหกรรมอาเซียนสัญจร

โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค - ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอาเซียนสัญจร ๔ ภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศธ.ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และเดอะเนชั่นกรุ๊ป เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ โดยมีผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ บุคลากรทางการศึกษา ครู นักศึกษา และนักเรียนจาก ๑๓ จังหวัดภาคกลาง รวม ๗๐๐ คน เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ กรุงเทพมหานคร

 


 

รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการดำเนินการศึกษา สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่ง ศธ.จะต้องเร่งขับเคลื่อนการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียน ภายใต้เสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุมสาขาการศึกษาที่ ศธ.รับผิดชอบ โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการชี้แจงแนวนโยบายและวิธีดำเนินการ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ และจะจัดประชุมระดมความคิดเห็นของหน่วยงานในสังกัด ศธ.เพื่อให้พร้อมสำหรับรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ ๒๔-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นการสร้างความรู้แก่สมาชิกในองค์กรด้านการศึกษา เพื่อพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน

ภารกิจด้านการศึกษาของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย การยกระดับการศึกษาให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จัดทำหลักสูตรมาตรฐานสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน สนับสนุนให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา สามารถแลกเปลี่ยนหน่วยกิตในการเรียนรู้ของแต่ละสาขาวิชา เพื่อให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งของประเทศสมาชิกอาเซียน มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ ประชาชนของประชาคมอาเซียนจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของประเทศตนและของประเทศสมาชิกอื่นๆในประชาคมเดียวกันอีกด้วย

รมว.ศธ.กล่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังพิธีเปิดว่า ศธ.ได้เร่งดำเนินการสร้างความตื่นตัว ความเข้าใจในแต่ละระดับการศึกษา โดยในระดับโรงเรียน จะให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศสมาชิกอาเซียน รู้ลักษณะภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ ภาษาท้องถิ่น สกุลเงิน วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ ส่วนในระดับที่สูงขึ้นมาก็จะต้องพิจารณาข้อดี ข้อด้อยของแต่ละประเทศ มีทรัพยากรอะไรบ้าง เราจะต้องผลิตอะไรไปขาย เครื่องหมายทางการค้าต้องใช้ภาษาอะไร คือต้องมีกรอบความคิดและคิดให้กว้างขึ้นกว่าเดิม และจากการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ ๗ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีความพยายามที่จะผลักดันความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับอาเซียน ดังนี้

- ASEAN Source Book คือ กรอบหลักสูตรของมหาวิทยาลัยในประเทศอาเซียน ซึ่งจะมีรายละเอียดเป็นรายมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยใด สอนวิชาอะไรบ้าง โดยมหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีมาตรฐานตามกรอบของอาเซียน

- ASEAN Standard simple window เป็นเกณฑ์มาตรฐานการเรียนการสอนแต่ละหลักสูตร แต่ละวิชาในมหาวิทยาลัยที่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้

อนึ่ง โครงการอาเซียนสัญจร ๔ ภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร กำหนดจัดขึ้น ๕ ครั้ง ใน ๔ ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ภาคกลาง วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่เชียงใหม่  ภาคใต้ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่ภูเก็ต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๕



นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/
รายงาน

 


 

ประชาคมอาเซียนกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

E-mail Print PDF

        นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวอรุณี พูลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์และการบูรณาการสู่ประชาคมอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และนายโสรัจ สุขถาวร ผู้อำนวยการกองอาเซียน ๑ (ด้านการเมืองและความมั่นคง) กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ ร่วมกันเสวนา ในหัวข้อ “ประชาคมอาเซียนกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑” ให้แก่ครูสอนดีทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมแซฟไฟท์ ศูนย์ประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕

     
โดยรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า ยุทธศาสตร์การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการล่าสุดตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ดังนี้ ๑.การแก้ไขปัญหา ข้อจำกัดด้านทักษะภาษาอังกฤษ ๒.การสร้างภาพลักษณ์ความเป็นประชาคมอาเซียน ๓.การแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของประชากร ๔.การเปิดเสรีและการลงทุนของสถานศึกษาเอกชนในอาเซียน ๕.การแลกเปลี่ยน /เทียบโอนหน่วยการเรียนระหว่างมหาวิทยาลัยในอาเซียน ๖.การสร้าง ส่งเสริมและสนับสนุนศูนย์การเรียนชุมชนในอาเซียน ๗.การยกระดับคุณภาพการเรียนสายอาชีพเพื่อรองรับตลาดแรงงานของอาเซียน และ ๘.การจัดทำหลักสูตรมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน

        และจากการประชุมรัฐมนตรีศึกษาที่เมืองยอร์กยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ประเทศไทยเสนอตัวจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยว กับการจัดทำหลักสูตรแกนกลาง โดยมีสาระของเอกสารต้นฉบับหลักสูตรอาเซียนเพื่อให้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศ อาเซียน การศึกษาอัตลักษณ์ของ แต่ละประเทศรวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเชื่อมโยงชุมชนต่างกันและชุมชนโลกโดยศึกษาจากเหตุการณ์หรือประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งเสริมความเท่าเทียมและความยุติธรรมโดยตรวจสอบผลกระทบ ที่เกิดขึ้น และดำเนินความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนจากทรัพยากรที่มีอยู่และประชากร ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

จึงมีข้อสรุปของครูกับศิษย์ศตวรรษที่ ๒๑ ได้ว่า ครูต้องยอมรับความจริงว่านักเรียนเป็นอย่างนี้ การเรียนเพื่อออกไปเผชิญการเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน เรียนทักษะและฉันทะในการเรียนรู้  เรียนทักษะ ไปพร้อมๆ กับทฤษฎี  การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน Problem Based Learning (PBL) และ ICT โดยครูจะไม่เน้นสอน แต่จะเน้นออกแบบและอำนวยให้เรียนลึกและเชื่อมโยงผ่าน AAR/Refleetion ให้ได้ 21st Centuryskill รวมทั้งทักษะชีวิต (เศรษฐกิจพอเพียง) และครูรวมตัวกันเรียนรู้ทักษะและทฤษฎีว่าด้วยการเป็นครูอย่างต่อเนื่อง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าว



**************************************



ศศิพิชญ์/สรุป, กิตติกร/ภาพ

กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.


 


Page 11 of 20

ผู้บริหารจัดการระบบ

แบบสำรวจความคิดเห็น

การศึกษามุ่งสู่ประชาคมอาเซียน?
 

ผอ.กศน.อ.พิบูลย์รักษ์

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา

พยากรณ์อากาศวันนี้

อัตราราคาน้ำมันวันนี้